แบงก์ แนะรับมือ ปัจจัยเสี่ยง กดดันเศรษฐกิจไทยปีหน้าเพียบ
นักเศรษฐศาสตร์ – แบงก์ แนะรับมือ ปัจจัยเสี่ยง กดดันเศรษฐกิจไทยปีหน้าเพียบ
“ศุภวุฒิ” ชี้ปี 2566 เสี่ยงสูง ฉุดเศรษฐกิจไทย คาดไตรมาส 2 ปีหน้า จุดชี้วัดไทยรอด – ไม่รอด ย้ำเผชิญความเสี่ยงดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ ดึงเงินไหลออก หวั่นการเมืองฉุดลงทุน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ห่วงปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ดอกเบี้ยสหรัฐคงระดับสูง
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความท้าทาย และโจทย์หนักหลายด้าน แต่หลายคนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบการนำเข้า และส่งออก ดังนั้นการหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีขึ้นเหมือนเดิมในปีหน้าไม่ง่าย
ดังนั้นมองว่าจุดพลิกสำคัญ หรือพลิกเศรษฐกิจที่สำคัญ ต้องดูไตรมาส 2 ปีหน้า ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จะแผ่วมากกว่าที่คาดหรือไม่ ในช่วงท่องเที่ยวที่เป็นช่วงโลซีซั่น มีนักท่องเที่ยวลดลง นักท่องเที่ยวจีนยังไม่มาเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะขาดเครื่องยนต์หลัก บวกกับการต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
อีกทั้งเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงสำคัญจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย และสหรัฐ ที่ส่วนต่างใหญ่ขึ้นจนถึง 3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ 2 พ.ย.นี้ ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นความเสี่ยงเงินทุนไหลออกมากขึ้น
“ปัจจุบันเริ่มเห็นการไหลออก หากดูเดือนต่อเดือน แต่หากดูตั้งแต่ต้นปีอาจจะบวก ซึ่งเราดูแบบนั้นไม่ได้ เพราะดอกเบี้ยสหรัฐต้นปีอยู่ที่ 0% แต่ของเรา 0.50% ก็ไม่แปลกที่เงินจะเข้ามาหาผลตอบแทนสูงกว่า แต่ตอนนี้เฟดขึ้นดอกเบี้ย และจะขึ้นอีกใน พ.ย.- ธ.ค.นี้ ทำให้ดอกเบี้ยไทยยิ่งห่างไปอีก”
เลือกตั้งสร้างความไม่แน่นอน
ส่วนการเลือกตั้งถือว่าเป็นความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจอีกปัจจัย แม้หลายคนมองว่าเมื่อมีเลือกตั้งจะทำให้จีดีพีโต เพราะนักการเมืองนำเงินออมมาหาเสียง แต่กระแสครั้งนี้ การเลือกตั้งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากหรือไม่ เพราะคนไม่เอารัฐบาลเดิม ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ค่อนข้างมาก
ดังนั้นหากเกิดการเปลี่ยนกลุ่มอำนาจ ความไม่แน่นอน คือ ไม่รู้ว่า ผู้นำคนใหม่เก่งแค่ไหน ทำงานร่วมกันดีหรือไม่ ด้วยความไม่รู้ ทำให้ความไม่แน่นอนสูง ที่อาจทำให้เศรษฐกิจเกิดปัจจัยลบได้ สิ่งที่สำคัญคือ ต้องดูการลงทุนของเอกชน และต่างชาติจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาตัวสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ การบริโภคผ่านคนละครึ่ง แก้ปัญหาเดือนต่อเดือน ไม่สามารถช่วยเศรษฐกิจได้จริง แต่หัวใจคือ การลงทุนที่จะเพิ่มผลผลิตใหม่ระยะยาวอีก 20 ปี จึงสำคัญกว่า
“เราต้องการลงทุนต้องการคนละครึ่ง แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะทำให้เกิดการชะลอการลงทุนได้ ยิ่งการเมืองที่ไม่แน่นอน การเลือกตั้งที่จะมีในไตรมาส 2 บวกกับปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่แล้ว ส่วนต่างดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ ท่องเที่ยวหาย เศรษฐกิจโลกถดถอย ดังนั้นไตรมาส 2 จะหนัก และเป็นตัวตัดสินว่าไทยจะรอดหรือไม่”
ธุรกิจต้องแผน A-B-C
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีข้างมาก จากการชะลอตัวของโลก ดังนั้นไม่รู้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร เพราะความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตลอด
โดยการรับมือของภาคธนาคารจะเตรียมแผนรับมือ ซึ่งทุกบริษัทต้องมีแผน A แผน B และบางครั้งต้องมีแผน C เพราะความเสี่ยงสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารที่เชื่อมกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ดังนั้นหากเศรษฐกิจถูกกระทบ ธุรกิจแบงก์ก็ต้องรับผลกระทบด้วย
ทั้งนี้หากดูการทำรายได้ของแบงก์ปัจจุบัน แบงก์มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพียง 3-4% ในการปล่อยสินเชื่อ แต่เวลาถูกผลกระทบ แบงก์ต้องตั้งสำรองเต็ม 100% ฉะนั้นทุกคนต้องระวัง และหากดู Coverage ratio อัตราความพอเพียงของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง วันนี้ทุกแบงก์ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ เพราะต้องเผื่อความเสี่ยงไว้ทำให้เห็นแบงก์ต้องตั้งสำรองเพิ่มต่อเนื่อง และหากอนาคตมีความเสี่ยงเพิ่มอีกเชื่อว่าระบบธนาคารจะตั้งสำรองเพิ่มอีกทันที เพราะเท่าที่มีคงไม่เพียงพอ
“ภาวะถดถอยเป็นความเสี่ยงหลักเศรษฐกิจไทยปีหน้า ส่วนทิสโก้จะตั้งสำรองเพิ่มหรือไม่ดูตามสถานการณ์ ขึ้นกับมีเซกเตอร์ใดได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงนี้มากน้อยแค่ไหน บางแบงก์เกี่ยวโยงกับท่องเที่ยว ส่งออกเยอะก็อาจมีความเสี่ยงกว่ามากแบงก์อื่น”
ดอกเบี้ยไทยสูงต่อกันเงินไหลออก
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย จะมีความเสี่ยงมาจากต่างประเทศเป็นหลัก จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปจะเผชิญภาวะถดถอยในบางไตรมาส
โดยความเสี่ยงมาจากเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงนาน แปลว่าดอกเบี้ยของเฟดขึ้นแล้วคงไม่ลงทันที อาจคงไว้ถึงสิ้นปีหน้า เหล่านี้คือ ความเสี่ยง เพราะก่อนหน้านี้ตลาดมองว่าสถานการณ์ผ่านจุดเลวร้ายมาแล้ว แต่ความจริงอาจไม่สดใสเหมือนที่คาด
ทั้งนี้ เป็นเพราะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง และคาดอยู่ระดับสูงกว่าที่ตลาด ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อไทยด้วยเพราะดอกเบี้ยสหรัฐสูงต่อเนื่อง ทำให้ดอกเบี้ยไทยปรับลงไม่ได้ และต้องคงดอกเบี้ยระดับสูง เพื่อป้องกันเงินไหลออก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทย
ดังนั้นปี 2566 ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ เช่น สหรัฐ ยุโรป ส่วนจีนก็มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันเราเผชิญความเสี่ยงทางการเมือง จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ต้องติดตาม เพราะส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการตั้งรัฐบาลคงไม่เปลี่ยนขั้ว เหล่านี้คือ ความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย