กสิกรไทยต่อยอด AEC+3 ชูยุทธศาสตร์การเงินผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้งเต็มรูปแบบ

ธนาคารกสิกรไทย ต่อยอด AEC+3 ชูยุทธศาสตร์การเงินผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้ง พร้อมตั้งเป้าปี 66 เพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศต่อรายได้สุทธิเป็น 4%

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาธนาคารได้ขยายธุรกิจในต่างประเทศ และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วภายใต้สถานการณ์โลกที่ท้าทายและยังอยู่ในสภาวะเพิ่งฟื้นตัว โดยปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถส่งมอบรายได้สุทธิ หรือ Net Total Income ให้ธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% และปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าท้องถิ่นในต่างประเทศถึง 2.1 ล้านรายทั่วภูมิภาค

ธนาคารกสิกรไทย

สำหรับปี 2566 ธนาคารกสิกรไทยจะขยายธุรกิจในตลาด AEC+3 อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 หรือ A Regional Bank of Choice ด้วยการเดินหน้ากลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 ด้านประกอบด้วย

1. การรุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ

2. การขยายฐานลูกค้าที่มุ่งเน้นการใช้บริการในช่องทางดิจิทัล ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร เพื่อต่อยอดสู่การเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค

3. การพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้าถึงบริการของธนาคารได้จำกัด ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัลด้วยข้อมูลทางเลือก

ขณะเดียวกันก็มุ่งหน้าสร้างพื้นฐานของธนาคารให้แข็งแกร่ง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจใน AEC+3 มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับการสร้างธนาคารกสิกรไทยให้เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือในแต่ละประเทศทั่วภูมิภาค ด้วยการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านไอทีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบดิจิทัล

รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการและประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเชื่อมต่อกับพันธมิตรผู้ให้บริการทางการเงินในท้องถิ่น ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้าง Ecosystem เพื่อส่งมอบบริการทางการเงินที่จะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินทุนเพื่อการดำเนินชีวิตหรือทำธุรกิจได้มากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธนาคารกสิกรไทยมีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ตามแนวคิดการเป็น Beyond Banking ของธนาคารในระดับภูมิภาค

นายชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายและกลยุทธ์การเติบโตของธนาคารกสิกรไทย ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแห่งโอกาสในการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน ธนาคารกสิกรไทยจึงขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างต่อเนื่อง

โดยมุ่งเน้นขยายธุรกิจในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และ สปป.ลาว ด้วยยุทธศาสตร์การเงินผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้ง รวมทั้งบริการที่มากกว่าบริการธนาคาร หรือ Beyond Banking จากการประสานศักยภาพทางเทคโนโลยีและพันธมิตร เพื่อการพัฒนาบริการที่จะช่วยให้ลูกค้าในภูมิภาคนี้มีชีวิตที่ดี พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค ธนาคารกสิกรไทยได้กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายสำคัญในประเทศยุทธศาสตร์ ดังนี้

– การดำเนินธุรกิจยังคงมุ่งเน้นไปที่ประเทศจีน และ AEC โดยในประเทศจีน ธนาคารกสิกรไทยในฐานะธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน มุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าด้วยแนวคิด Better Me และ Better SMEs ด้วยการช่วยให้ลูกค้าท้องถิ่นในจีน เข้าถึงสินเชื่อเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิตและธุรกิจ สำหรับการดูแลลูกค้าท้องถิ่นในประเทศกลุ่ม AEC ทั้งใน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย

โดยธนาคารจะมุ่งเน้นการพัฒนาบริการทางการเงินบนดิจิทัล หรือ Digital Financial Product & Service ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าบุคคลได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการธนาคารได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในมุมการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจในภูมิภาค ธนาคารจะเพิ่มการเชื่อมต่อเครือข่ายลูกค้าธุรกิจระหว่าง ไทย จีน และ AEC ให้มากยิ่งขึ้น หรือ AEC Connectivity เพื่อสร้าง Cross Border Value Chain ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจได้

สำหรับประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตถึง 8.02% ในปี 2565 เป็นการขยายตัวที่เร็วที่สุดในรอบ 25 ปี โดยธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปให้บริการในเวียดนาม ด้วยการสร้าง Digital Lifestyle Solution ผ่านการใช้งาน K PLUS Vietnam เป็นแกนหลัก ซึ่งจากการให้บริการตั้งแต่เดือน มี.ค.64 จนถึงปัจจุบันในเดือน ก.พ. 65 มีผู้ใช้งานถึง 400,000 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม : AQUA เล็งยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

AQUA เล็งยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

AQUA เล็งยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ดันไทยพาร์ซิลเข้า mai ลุยซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ ตั้งเป้ารายได้โต 6-10%

AQUA เล็งยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ซุ่มเจรจาพันธมิตรสถาบันการเงิน รวมกับมีความพร้อมด้านฟินเทคและเทคโนโลยี รอจังหวะแบงก์ชาติประกาศหลักเกณฑ์ชัดเจน ตั้งเป้าปี 2566 รายได้โต 6-10% จากธุรกิจ Lending ที่จะเพิ่มพอร์ตกว่า 3,000 ล้านบาท เร่งดัน “ไทยพาร์เซิล” เข้า mai ช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ เน้นโลจิสติกส์สินค้าขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครทำและเร่งเจรจาปิดดีลธุรกิจโลจิสติกส์เสริมทัพ และธุรกิจด้านเทคโนโลยีอีก 1 ราย แย้มออกหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาท รูปแบบใหม่ของตลาดกลางปีหน้า โดยแบ่งเงิน 500 ล้านบาทไปชำระหุ้นกู้เพิ่อบริหารต้นทุน และอีก 500 ล้านบาทไปลงทุน

การเงิน

นายชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (AQUA) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจที่จะเข้ายื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศได้ประกาศหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจากับพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินที่จะเข้ามาเสริมด้านเงินทุนและกลุ่มเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมการเงินสมัยใหม่ไว้แล้ว โดยบริษัทมีความแข็งแกร่งด้านฟินเทค เป็นการต่อยอดให้บริษัทเดินหน้ารุกธุรกิจฟินเทคเต็มกำลัง หลังจากร่วมมือกับ บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) เจ้าของ บล.ลิเบอเรเตอร์ เพื่อให้บริการ P2P Lending ในชื่อของ “Peer for All” จะเปิดตัวภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยตั้งเป้าพอร์ตปล่อยกู้ในรูปแบบที่ใช้หุ้นมาค้ำประกันในปีแรกราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะคัดหุ้นที่ราคาไม่ผันผวนและมีสภาพคล่องสูงใน 300 อันดับแรก และมีระบบควบคุมความเสี่ยงในการปล่อยกู้

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม คลิ๊กเลย >> แบงก์รัฐแห่ขึ้นดอกกู้ยันไม่กระทบเงินงวด

แบงก์รัฐแห่ขึ้นดอกกู้ยันไม่กระทบเงินงวด

แบงก์รัฐแห่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หลังกนง.ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยปรับขึ้นสูงสุด 0.25% ด้านธอส.ยันไม่กระทบต่อเงินงวดในการชำระหนี้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ที่ประชุมสถาบันการเงินของรัฐ มีมติให้ธนาคารรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ได้ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนม.ค.66 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดและการที่ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากไปแล้วก่อนหน้านี้ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งมีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี เป็น 1.50% เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม แบงก์รัฐมีการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้ง ยังดูแลไม่ให้กระทบต่อเงินงวดของลูกค้าส่วนใหญ่

สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี 9 เดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.66 เป็นต้นไป ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ขึ้นจาก 6.15% ต่อปี เป็น 6.40% ต่อปี ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (เอ็มแอลอาร์) ขึ้นจาก 5.75% เป็น 6.00% และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) ขึ้นจาก 5.90% เป็น 6.15% ต่อปี

ข่าวการเงินล่าสุด

โดยธอส.ยืนยันว่าการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้ จะไม่ส่งผลให้ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องผ่อนชำระเงินงวดเพิ่มขึ้นเนื่องจาก ธนาคารได้คำนวณเงินงวดเผื่อการขึ้นดอกเบี้ยไว้แล้ว

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ตามมติสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไป ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ไพรม์เรท ปรับเพิ่มจาก 5.75% เป็น 6.00% แต่ก็ยังถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาด

ด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ได้มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ หรือเอ็มแอลอาร์อีก 0.25% มีผลตั้งแต่ 25 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เอ็มแอลอาร์ปรับขึ้นจาก 6.75% เป็น 7.00% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ชนิดอื่นยังคงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไป ส่งผลให้ดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ เพิ่ม 0.125% จาก 6.5% เป็น6.625% ดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์เพิ่ม 0.25% จาก 4.875% เป็น 5.125% และดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชีหรือเอ็มโออาร์ เพิ่ม 0.25% จาก 6.25% เป็น 6.50%

ส่วนธนาคารออมสิน ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี มีผลวันที่ 27 ม.ค.นี้เป็นต้นไป โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางของสมาคมสถานบันการเงินเฉพาะกิจแห่งรัฐ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยของออมสิน โดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย MRR ในตลาด

พาณิชย์ เตรียมเสนอครม.เคาะประกันรายได้มันสำปะหลัง

พาณิชย์ เตรียมเสนอครม.เคาะประกันรายได้มันสำปะหลังต่อเนื่อง คาดใช้งบกว่า 5 พันลบ.

 

ข่าวธุรกิจวันนี้

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่ 2/2565 มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 4 ต่อไป โดยเงื่อนไขเหมือนกับ 3 ปีที่ผ่านมาทุกประการ คือ ประกันรายได้กิโลกรัมละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค.-1พ.ย.66 จ่ายเงินส่วนต่าง 12 งวด ตั้งงบประมาณ 4,743.5 ล้านบาท

“งบ 4,743 ล้านบาท สำหรับเงินส่วนต่างถ้าต้องจ่าย แต่ขณะนี้ยังไม่ต้องจ่าย เพราะราคาอยู่ที่ 3 บาทกว่าแล้ว เกินรายได้ที่ประกันไว้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท เป็นปีแล้ว” รมว.พาณิชย์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการคู่ขนานกับการประกันรายได้ ดังนี้ 1) ช่วยดอกเบี้ย 3% แก่เกษตรกรรายย่อย เพื่อกู้ไปใช้ในการปลูกมันสำปะหลังตั้งงบไว้ 41.4 ล้านบาท 2) ช่วยดอกเบี้ยสถาบันเกษตรกรที่เก็บสต็อกมันสำปะหลังไว้ในช่วงที่มันออกมาก เพื่อไม่ทำให้ราคาตก โดยตั้งงบไว้ 15 ล้านบาท 3) ช่วยดอกเบี้ย 3% ให้กับลานมัน โรงแป้ง หรือโรงงานผลิตเอทานอล ในการนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น แป้งมัน หรือเอทานอล และเก็บสต็อกไว้ 3-6 เดือน ตั้งวงเงิน 225 ล้านบาท

“งบประมาณที่ใช้ในมาตรการคู่ขนาน 291.4 ล้านบาท เมื่อรวมกับการประกันรายได้ จะเป็นวงเงินทั้งหมดราว 5,035.3 ล้านบาท จะได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไปโดยเร็ว” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้ติดตามการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง ปี 64-67 โดยมีมติให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการด้านการผลิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยตั้งแต่ปี 67 จะต้องได้ผลผลิตต่อไร่ไม่น้อยกว่า 5 ตัน/ไร่ จากปัจจุบันทำได้ 3.48 ตัน/ไร่